WASC (Western Association of Schools and Colleges) เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้านการประกันคุณภาพการศึกษา เป็นหนึ่งในหกหน่วยงานประกันระดับภูมิภาคของประเทศสหรัฐอเมริกา มีผู้แทนจากหลากหลายหน่วยงานเข้าร่วมเป็นสมาชิกถึง ๓๒ คน ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย มีการประกันคุณภาพการศึกษา ๓ ระดับ คือ ระดับมหาวิทยาลัย ระดับวิทยาลัย และระดับโรงเรียน หน่วยงานทางการศึกษาที่ได้รับการประกันคุณภาพการศึกษาจาก WASC จะเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก นักเรียนสามารถไปสมัครเรียนที่ไหน หรือครูไปสมัครสอนที่ไหนก็ได้ทั่วโลก ในระดับโรงเรียน WASC ดูแลมากกว่า ๔,๗๐๐ แห่ง ที่มีความแตกต่างกันมากกว่า ๔๕๐ รูปแบบ
ปรัชญาของ WASC ระดับโรงเรียน ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ๓ ประการ คือ ๑) เป้าหมายของโรงเรียน คือ การเรียนรู้ของนักเรียนที่มีประสิทธิภาพ ๒) โรงเรียนต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนต่อคุณภาพนักเรียน และ ๓) โรงเรียนต้องมีการประเมินทั้งภายในและภายนอกเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง
การประกันคุณภาพการศึกษาของ WASC จะเน้นไปที่การพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กเก่ง หรือเด็กอ่อน ที่ไม่ได้สร้างขึ้นเป็นครั้งคราว แต่ต้องเป็นกระบวนการต่อเนื่องของการพัฒนานักเรียนให้เป็นเนื้อเดียวกันในทุกระบบ ดังนั้น โรงเรียนจะต้องรู้ว่า
๑. นักเรียนต้องรู้อะไรเพิ่มขึ้น
๒. นักเรียนต้องทำอะไรมากกว่าที่ทำอยู่
๓. จะปรับปรุงเจตคติของนักเรียนให้ดีอย่างไร ทั้งต่อตนเอง ต่อเพื่อน และต่อการเรียนรู้
จะเห็นว่า WASC จะเน้นไปที่ตัวนักเรียน และให้ความหมาย WASC ว่า We Are Student - Centered
WASC เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในปี ๑๙๖๕ โดยทำ MOU กับโรงเรียนนานาชาติ ๒ แห่ง เหตุผลที่ WASC สนใจประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีการอนุญาตให้นักเรียนไทยเรียนโรงเรียนนานาชาติ (สมัยรัฐบาลท่านอานันท์ ปัณยารชุน) และปัจจุบันได้ทำ MOU กับ สพฐ. เพราะประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซี่ยน
WASC มีกระบวนการประกันคุณภาพตามวงจรคุณภาพ (Cycle Quality) โดยมีภาพความสำเร็จของนักเรียนเป็นฐาน ดังนี้
๑. assessment โดยทีมของ WASC จะเข้าไปช่วยโรงเรียนประเมินตนเอง ไม่ใช่ทีม WASC เข้าไปประเมิน
๒. planning ทำแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องมีความชัดเจน เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้จริง
๓. implementation ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์
๔. monitoring ติดตาม ประเมินการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ สิ่งสำคัญที่ WASC ดู คือ ศักยภาพการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ของโรงเรียน และโรงเรียนมีการประเมินตามแผนยุทธศาสตร์อย่างไร
๕. reassessment ประเมินความสำเร็จภาพรวม
WASC ได้กำหนดหลักการประกันคุณภาพ ไว้ ๗ ข้อ โดยเน้นที่การเรียนรู้ กระบวนการ และสะท้อนการประกันของ WASC ตามวงจรคุณภาพ ดังนี้
๑. การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และภาพของนักเรียนที่ต้องการ
๒. นักเรียนทุกคนประสบความสำเร็จตามภาพของนักเรียนที่โรงเรียนต้องการ และมาตรฐานการศึกษา
๓. ใช้หลากหลายวิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของนักเรียน เช่น สัมภาษณ์ สอบ สังเกต ประเมินชิ้นงาน เป็นต้น
๔. ประเมินประสิทธิผลโปรแกรมสัมพันธ์กับ ๑) ผลกระทบด้านการเรียนรู้ของนักเรียนตามภาพของนักเรียนที่โรงเรียนกำหนด ความต้องการของนักเรียน และมาตรฐานการศึกษา ๒) ระดับคุณภาพของ WASC
๕. การจัดลำดับความสำคัญของแผนปฏิบัติการที่เน้นความสำเร็จของนักเรียน
๖. การปรับปรุงและมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามแผนอย่างต่อเนื่อง
๗. การให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม
วงจรคุณภาพของ WASC สำหรับโรงเรียนในประเทศไทยใช้เวลา ๕ ปี โดย WASC ร่วมกับ สพฐ. โดยจะพัฒนาศึกษานิเทศก์ เพื่อเป็นทีมงานร่วมกับ WASC พาโรงเรียนประเมินตนเอง ให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุง พัฒนา ติดตาม ประเมินผล ก่อนที่ WASC จะเข้ามาประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อให้คำรับรอง ต่อไป
จากหลักการประกันคุณภาพดังกล่าว สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
๑. ความชัดเจนของวิสัยทัศน์ และพันธกิจ สามารถสะท้อนความเชื่อและปรัชญาของโรงเรียน ที่จะพัฒนานักเรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะสำคัญ ซึ่งประกอบด้วย ความรู้ ทักษะตามที่กำหนดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ และทักษะชีวิตของคนในศตวรรษที่ ๒๑ เช่น ทักษะการคิดของวิทยาศาสตร์ต้องสอนอย่างไร คณิตศาสตร์ ภาษาไทย พละศึกษา ต้องสอนอย่างไร นักเรียนที่จบจากโรงเรียนนี้ต้องมีหน้าตาอย่างไร
๒. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ต้องช่วยให้นักเรียนมีความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียน ในชุมชนกับสังคมภายนอก เช่น เรียนเรื่องป่าชายเลน นักเรียนต้องรู้เรื่องสภาพป่าชายเลน ป่าชายเลนในชุมชน ว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร และป่าชายเลนที่มีอยู่ทั่วโลกเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร และจะแก้ปัญหาได้อย่างไร สามารถนำความรู้ ความคิดไปสู่การปฏิบัติได้ ไม่ใช่เรียนรู้เฉพาะแต่ในห้อง ต้องโยงสู่วิถีชีวิตได้ มีทักษะในการสื่อสาร ฟังและยอมรับความคิดเห็นหลากหลายมุมมอง
๓. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนต้องมีเกณฑ์ และการประเมินคุณภาพ (rubrics) ที่ชัดเจน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และปรัชญาของโรงเรียน ใช้วิธีการประเมินที่หลากหลาย และเหมาะสม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้
๔. ระบบบริหาร สนับสนุนหรือขัดขวางการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น นักเรียนเรียนชีววิทยาแล้วรู้สึกว่าเนื้อหามีความซ้ำซ้อน แสดงว่าเกิดอะไรขึ้น หรือมี smart board แล้ว smart board สร้างความแตกต่างต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร
๕. การพัฒนาครู ไม่ใช่คิดแต่จะพัฒนา แต่ต้องดูว่าเมื่อพัฒนาแล้วครูสามารถสร้างความแตกต่างให้นักเรียนได้หรือไม่ อย่างไร ก่อนการอบรมครู ต้องดูนักเรียนก่อนว่าต้องการพัฒนาทักษะทางไหน แล้วสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน เมื่อพัฒนาครูให้ตรงแล้วต้องมีการติดตามผล โดยประเมินที่นักเรียน เพระดูหลักฐานร่องรอยที่เกิดกับนักเรียน ก็จะเห็นไปถึงกระบวนการเรียนการสอนด้วย